บลอกอาจารย์โจ้

ในการอบรมในหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารระดับกลางของมหาวิทยาลัยมหิดล (Executive Development Program) รุ่นที่ 15 ที่ผมได้เข้าร่วมมีหัวข้อการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้บริหาร โดยมีวิทยากรเป็นคุณเนตรา เทวบัญชาชัย ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมศาลายาพาวิลเลียน อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

edp15_group_20161006sm

ถ่ายภาพกับคุณเนตรา เทวบัญชาชัย (ท่านที่ 4 แถวหน้า นับจากทางซ้าย) ภาพโดยจนท.กองทรัพยากรบุคคล

มาดต้องตา วาจาต้องใจ ภายในยอดเยี่ยม

คุณเนตรากล่าวว่าบุคลิกภาพนั้นปรากฎขึ้นมาผ่าน 3 สิ่ง ได้แก่

  • การแต่งกาย ซึ่งเป็นรูปลักษณ์ภายนอก
  • การแสดงออกด้วยภาษาทั้งภาษาพูดและภาษากาย
  • ประสบการณ์ จิตใต้สำนึก ทัศนคติ ฯลฯ ที่จะแสดงออกมาเป็นวิถีชีวิต หรือในการตัดสินใจต่าง ๆ

มาดต้องตา (รูปลักษณ์ภายนอก)

เรื่องของผม

วิทยากรเริ่มต้นด้วยเรื่องของทรงผมของสุภาพสตรี โดยผู้บริหารควรใช้ทรงผมที่ดูแล้วเรียบร้อย เช่นผมบ็อบ การรวบผม การเกล้าผม มากกว่าการปล่อยผม แม้ว่าอาจจะทำให้ดูมีอายุขึ้น แต่ก็ทำให้ดูเรียบร้อยเป็นระเบียบ และเหมาะแก่ผู้บริหาร โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ทำงาน ไม่ได้หมายความว่าต้องทำผมทรงนี้ในทุกหนแห่งเช่นที่บ้าน หรือเวลาไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

ในกรณีของผู้บริหารสุภาพบุรุษ ทรงผมที่ไม่แนะนำคือแบบปิดหน้าปิดตา วิทยากรเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยจึงแนะนำให้เลือกทรงผมแบบเปิดหน้าผากให้กับผู้บริหารเพศชาย (และเพศหญิงก็ควรเปิดหน้าผากเช่นกัน) อาจทำได้โดยการใช้มือกับน้ำหมาด ๆ ผสมเจล และลูบผมขึ้นไป ในกรณีคนผมน้อย วิทยากรแนะว่าโกนไปเลยก็แล้วกัน จะได้ไม่ต้องยุ่งเรื่องผมอีกต่อไป

เครื่องประดับ

สำหรับสุภาพสตรีนั้น เครื่องประดับเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำบุคลิกภาพภายนอกออกมาดูดี วิทยากรแนะนำมุข (และห้ามใช้ของที่เป็นพลาสติก) ในส่วนของต่างหู ควรเป็นแบบที่ติดอยู่เฉยๆ ไม่ควรใช้แบบห้อยแล้วแกว่งไปแกว่งมา วิทยากรแสดลให้เห็นว่าเครื่องประดับแม้จะเป็นแบบเดียวกันตลอด แต่ทำให้ดูดี ก็สามารถใช้ได้เรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทุกวันหรือต้องใช้ของแพง

ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้บริหารที่เป็นสุภาพสตรีหรือสุภาพบุรุษ ในกระเป๋าเสื้อสูทของท่านอาจพับผ้าเช็ดหน้าที่มีสีสันให้ปรากฎอยู่ด้านนอก หรือใส่ดอกไม้ลงไปในกระเป๋าให้ตัวดอกไม้และกลีบดอกไส้สีสดปรากฎตัดกับเสื้อสูทสีเข้ม วิทยาการเชื่อว่าจะช่วยให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นได้อย่างเหมาะสมแม้จะใส่สูทสีเข้มขรึม และในรูปแบบที่เป็นทางการก็ตาม

กระดุมข้อมือเสื้อ (cuff link) เป็นสิ่งที่คนไทยไม่ค่อยใช้กัน แต่วิทยากรแนะนำให้ผู้บริหารไปหามาใส่ใช้กัน โดยเฉพาะท่านที่ต้องใช้มือวาดลวดลายไปมา เช่นในการบรรยาย ตัวกระดูมข้อมือเสื้อจะเป็นอีกเครื่องประดับหนึ่งที่ใช้ได้โดยช่วยเสริมบุคลิกภาพภายนอก แต่ก็ไม่ควรหาแบบที่ห้องรุ่งริ่ง ควรใช้แบบเรียบ ๆ แต่ดูดีเป็นหลัก

กระเป๋าเสื่้อของสุภาพบุรุษ ไม่ควรมีของที่ทำให้ดูหนัก จนเสื้อเสียทรง บุคลิกภาพของท่านก็จะเสียไปด้วย

เสื้อผ้า

ผู้บริหารที่เป็นสุภาพสตรีสามารถใส่กระโปรงหรือกางเกงไปทำงานได้ตามความเหมาะสม แต่ก็ต้องให้ดูดีเช่นเดียวกัน และการที่บ่อยครั้งผู้บริหารอาจต้องนั่งเพื่อรับการสัมภาษณ์บนเวที หรือนั่งด้านหน้าสุดเพื่อถ่ายภาพ วิทยากรจึงแนะนำว่า ผู้บริหารไม่ควรใส่กระโปรงสั้นเหนือเข่า เนื่องจากเมื่อนั่งแล้วอาจจะต้องนำมามือมาปิดขา ทำให้เสียบุคลิกภาพ

ผู้บริหารสุภาพบุรุษมักใส่เสื้อเชิ้ตเวลาทำงานกันเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่มักต้องใช้ร่วมกับเสื้อเชิ้ตก็คือเนกไท ท่านไม่ควรพับแขนเสื้อ ซึ่งมักพบในประเทศเมืองร้อน ที่ผู้บริหารมักจะพับแขนเสื้อกัน แม้ว่าจะมีวิธีพับที่หลากหลาย (หาดูได้ทางอินเตอร์เน็ต) แต่วิทยากรแนะนำว่าเพื่อบุคลิกภาพที่ดี ผู้บริหารไม่ควรพับแขนเสื้อ

ชุดสูท/เบลเซอร์

การใส่สูทหรือเบลเซอร์ ทำให้ผู้บริหารมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเลือกชุดสูท หรือเอาแค่เรื่องตัวเสื้อ สำหรับท่านที่มีร่างกายผอมบาง เสื้อสูททำให้ร่างกายดูใหญ่ขึ้นน่าเกรงขามได้ด้วย เสื้อสูทของท่านควรเป็นแบบติดกระดุมขึ้นมาได้สูง ในทางตรงกันข้ามท่านที่ท้วมหรืออ้วนหากใส่สูท ควรเลือกแบบที่ติดกระดุมช่วงล่าง

ติดกระดุมกี่เม็ดดี? หากต้องขึ้นเวที โชว์ตัวต่อสาธารณชนมาก ๆ และเป็นทางการมาก ๆ วิทยากรแนะนำให้ติดกระดุมทุกเม็ดในร่างกาย การปล่อยกระดุมเหลือไว้ ดูไม่เรียบร้อย หากไม่ต้องขึ้นเวทีจะติดไม่กี่เม็ดก็ได้ วิทยากรแนะนำว่ามีเพียงผู้บริหารสุภาพบุรุษเท่านั้น ที่สามารถยืนโดยไม่ติดกระดุมเสื้อสูทได้ แต่สำหรับท่านผู้บริหารสุภาพสตรี เมื่อยืนขึ้น ไม่ควรปล่อยเสื้อสูทไว้โดยไม่ติดกระดุม

วิทยากรแนะนำเรื่องกระดุมเสื้อสูทด้วยสูตรต่อไปนี้

หนึ่งเม็ด ติดหนึ่ง สองเม็ด ติดบน สามเม็ด ติดกลาง

ซึ่งหากสูทของท่านมีกระดุมเท่ากับ หนึ่ง สอง หรือสามเม็ด หากอยู่ในท่ายืน และพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการนัก ก็แนะนำให้ติดกระดุมหน่อยตามสูตรที่ว่า

การถือเสื้อสูทเวลาไม่สวมใส่ จะทำอย่างไรดี วิทยากรแนะนำว่าให้พับเสื้อให้เรียบร้อย พาดที่แขนโดยหันกระเป๋าด้านที่อาจมีตรา โลโก้ หรือด้านที่มีปลายผ้าเช็ดหน้า หรือดอกไม้ประกอบ หันออกสู่ด้านนอก  งอแขนแนบกับลำตัวในแนวขนานกับพื้นโลก การถือเสื้อสูท หรือหาอะไรมาถือช่วยเสริมบุคลิกผู้บริหารได้เหมือนกัน

วิทยากรยังแนะนำอีกว่าไม่ควรพาดเสื้อกับเก้าอี้ ทางจีนถือ อาจทำให้มีสิ่งอื่นไปนั่งอยู่ วิทยากรแนะนำให้พาดไปกับเก้าอี้ในลักษณะอื่นแทน

เนกไท

วิทยากรแนะนำให้เลือกใช้เนกไทแบบสีเรียบ ๆ ไม่มีลาย ไม่มีจุด หากจะมีลายหรือจุดก็ควรจะเป็นจุดเล็ก หรือลายที่เรียบร้อยเช่นลายสก็อต การเลือกสีของเนกไทนั้นวิทยากรแนะนำให้เลือกสีในโทนเดียวกับเสื้อเชิ้ต และไม่ควรมีสีเกิน 3 สีในหนึ่งคน (จำนวนสีสูงสุดที่แนะนำไว้สามสีก็เป็นข้อแนะนำสำหรับผู้บริหารสุภาพสตรีเช่นเดียวกัน) สีเนกไทจะเลือกให้เข้าสีเสื้อสูทก็ได้ แต่มักนิยมเลือกให้เหมาะกับเสื้อเชิ้ต

เนกไทควรเป็นผ้ามัน เพราะเมื่อนำมาใช้จะทำให้ดูมีมิติไม่เรียบแบน แต่ควรซื้อเนกไทสีดำผ้าด้านไว้ด้วยเพื่อใช้ไปงานศพ

การผูกเนกไทมีได้หลายแบบ ซึ่งหาได้ทางเว็บไซต์ผ่านกูเกิ้ล หรือดูการผูกเป็น ๆ ผ่านยูทูป ขนาดของปมเนกไทมักให้สอดคล้องกับรูปหน้า เช่นชาวยุโรปที่รูปหน้ายาว นิยมผูกเนกไทปมเล็กเป็นต้น

เนกไทควรให้ปลายยาวลงมือถึงแนวเข็มขัด ไม่ควรสั้นเกินไป หรือยาวเกินนั้นไปเป็นอย่างยิ่ง

จำเป็นต้องใส่เนกไทหรือไม่? อาจมีผู้บริหารบางคนไม่ชอบสวมเนกไทเพราะอึดอัด ผมเคยฟังวิทยากรที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่าเนกไทจะจำกัดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งสำคัญต่อการใช้ความคิด สติปัญญา หรือจินตนาการสร้างสรรค์ ผมจึงสรุปเอาเองว่า หากเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่ดำรงตำแหน่งบริหาร ก็ควรใส่เนกไทเท่าที่จำเป็นมากกว่าที่จะต้องใส่ทุกวันเวลามาทำงาน

ปัจจุบันมี app มากมายหรือเว็บไซต์ออนไลน์ ที่สามารถแต่งรูปเราได้ด้วยการเอาชุดสูทมาสวมทับตัวเรา อาจทดลองเองได้ว่า เราจะดูดีขึ้นไหมหากได้สวมสูทผูกไท ตามที่ผมเข้าไปศึกษาดู เว็บไซต์และแอพฯ เหล่านี้มักมีหลากหลายสูทและไท สี และลายต่าง ๆ ให้เลือกสวนใส่แบบเสมือนจริงกันตามอัธยาศัย และที่ผ่านมาก็พบแต่แบบที่เป็นของฟรี ที่อาจสร้างภาพถ่ายออกมา แต่ติดที่อยู่เว็บไซต์เพื่อการโฆษณาอยู่นิดหน่อย

เสื้อโปโล

เสื้อโปโล เป็นเสื้้อที่ใส่ได้ในหลากหลายโอกาส แต่การใส่เสื้อโปโลให้ดูดีนั้น วิทยากรแนะนำว่าควรปิดกระดุมทุกเม็ด วิทยากรโชว์ภาพสุภาพบุรุษท่านหนึ่งที่สวมเสื้อโปโลแบบติดกระดุมทุกเม็ด กับไม่ปิดกระดุมเลย เพื่อให้ผู้ฟังพิจารณาความแตกต่าง ซึ่งเห็นได้ชัดเจน

กางเกง

ผู้บริหารมักใส่กางเกงขายาวไปทำงาน ในกรณีของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีนั้น ทรงกางเกงอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่วิทยากรแนะนำว่าอย่าเลือกกางเกงขาเดฟ ในยุคปัจจุบันอาจเลือกใช้ขาเดฟได้ระดับหนึ่ง ความยาวของขากางเกง ควรมีความยาวที่เหมาะสม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสูงของผู้สวมใส่ ในแบบที่เป็น “full break” คือการที่ขากางเกงยาวมาก เมื่อสวมใส่จะร่น ๆ หลายชั้นที่ปลายขา ทำให้ดูเตี้ย แต่เหมาะสำหรับคนตัวสูงมาก ๆ เช่นชาวต่างชาติ ที่จะทำให้ดูสูงชะลูดน้อยลงได้หน่อย แต่ไม่เหมาะกับคนตัวเตี้ย เนื่องจากจะทำให้เตี้ยลงไปได้อีก

วิทยากรแนะนำให้ผู้บริหารชายหญิงเลือกความยาวขากางเกงให้เป็นแบบ “half break” โดยมีความยาวพอประมาณ เมื่อสวมใส่พร้อมรองเท้าแล้วจะเกิดรอยหยักขึ้นเพียงหนึ่งหยัก จะเป็นแบบที่กำลังดูดี

ท่านที่รูปร่างเตี้ยอาจเลือกใช้ความยาวแบบ “no break” ที่ขากางเกงจะค่อนข้างสั้น และลงมาไม่ถึงข้อเท้า แต่จะทำให้ให้ท่านดูสูงขึ้นได้

ประเภทของผ้าที่เหมาะในการทำกางเกง วิทยากรกล่าวถึงผ้าโซลอน (ไม่แน่ใจว่าสะกดแบบนี้หรือไม่) แต่มีคุณลักษณะที่หนัก จะทำให้ได้กางเกงที่อยู่ทรงดี

รองเท้า

สำหรับผู้บริหารสุภาพสตรี วิทยากรแนะนำรองเท้าส้นสูงพอประมาณ ปลายแหลม (แต่ไม่แหลมมาก) หรือปลายมน ที่ปิดหน้าปิดหลัง หากจะเลือกใช้แบบเปิดด้านหน้าก็ควรเลือกที่เปิดเพียงเล็กน้อย และควรทาเล็บสีอ่อน ๆ

รองเท้าสำหรับท่านผู้บริหารชาย ควรเป็นคัทชูสีดำเรียบ ๆ ขัดมัน จะผูกหรือไม่ผูกก็ได้ ก็เพียงพอสำหรับทุก
โอกาสแล้ว

ถ้วยและช้อนกาแฟ

บ่อยครั้งที่ผู้บริหารไปประชุมและต้องยืนสนทนาระหว่างช่วงเวลา “coffee break” และบ่อยครั้งที่เราไม่รู้ว่าจะทำอย่างกับจานและช้อนกาแฟ และคงมีบ้างที่ช้อนหล่น กาแฟหก ระหว่างสนทนากันอย่างออกรสออกชาติ

วิทยากรแนะนำให้ผู้เข้าร่วมอบรมกลับเข้ามาในห้องบรรยายหลังพักครึ่ง พร้อมกับแก้วกาแฟและช้อน แล้วให้ทุกคนยืนขึ้น ถือจานรองแก้วกาแฟไว้ด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด หรือโดยมากก็คือการถือจานรองแก้วกาแฟด้วยมือซ้าย ใช้มือขวาหยิบช้อนกาแฟ ชงกาแฟในแก้ว โดยวนเป็นรูปเลข 8 (เลขแปดไทยคงไม่เหมาะจะนำมาเป็นรูปแบบในการคนกาแฟให้น้ำตาลและนม ฯลฯ ผสมกันเท่าไหร่นัก) ทั้งนี้อย่าให้มีเสียงดังของช้อนที่ชนกับแก้วเกิดขึ้นหรือดังเกินไป

เมื่อคนเสร็จ อย่าค้างช้อนไว้ในแก้ว แล้วยกดื่ม … ให้ทุกท่านวางช้อนลงด้านขวาของแก้ว ปล่อยมือที่จับช้อนไปจับ “จานรองแก้วและช้อน” พร้อมกัน จะทำให้เรายึดช้อนกับแก้วเอาไว้ด้วยกัน และไม่ตกหล่นโดยง่ายระหว่างการสนทนา ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดจับแก้วกาแฟเพื่อจิบดื่ม …คงไม่ถึงกับยกดื่นรวดเดียวหมดแก้วเพราะคงจะร้อนพอสมควร (มีอุณหภุมิที่เหมาะสมสำหรับชงกาแฟอยู่)

เมื่อดื่มเสร็จ วางชุดกาแฟโดยวางช้อนและหันหูถ้วยกาแฟไปทางขวา แสดงให้เห็นว่าที่วางลงไปนั้น ท่านได้ดื่มเสร็จแล้ว บริกรในงานสามารถมาเก็บแก้วของท่านไปได้ถ้าจำเป็น (มักเกิดขึ้นในกรณีที่มีที่วางถ้วยกาแฟจำกัด และต้องรีบเคลียร์พื้นที่อย่างรวดเร็วเมื่อมีผู้ดื่นเสร็จและวางถ้วยเอาไว้)

ในวันสบาย ๆ ของผู้บริหาร

แม้ไม่ใช่วันที่ไปทำงาน แต่วิทยากรก็ยังแนะนำให้ท่านผู้บริหารทั้งหลายเอาใจใส่การแต่งกายของท่านอยู่ โดยแนะนำให้เลือกเสื้อผ้าหน้าผมที่จะยังทำให้ท่านดูดี และสบาย ๆ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปได้ และน่าจะช่วยให้ชีวิตในวันทำงานไม่เครียดเกินไป เพราะเป็นกิจวัตรของท่านในการแต่งตัวให้ดูดีถูกกาละเทศะได้อยู่เสมอ

วิทยากรแนะนำตัวอย่างของผู้นำหลายประเทศ ในประเทศหลายคน และมีภาพของอดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ท่านศาสตราจารย์ ดร.มาลียา เครือตราชู ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้บริหารที่แต่งตัวดีมีมาดผู้บริหารได้อย่างเป็นธรรมชาติได้ตลอดเวลาให้ผู้เข้าอบรมดูอีกด้วย

maleeya_2016

ศ.ดร.มาลียา เครือตราชู อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ (ปัจจุบัน: ที่ปรึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

วาจาต้องใจ (ภาษากายและภาษาพูด)

อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นบุคลิกภาพของท่านก็คือการแสดงออกทางภาษา ซึ่งแบ่งออกเป็นภาษากายและภาษาพูด

ยิ้ม

ข้อแนะนำแรก และมักจะถูกแนะนำอีกบ่อยครั้งระหว่างการบรรยายของวิทยากรคือผู้บริหาร ต้องบริหารรอยยิ้มของตน บ่อยครั้งที่ผู้ใต้บังคับบัญชามองหารอยยิ้มของท่าน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจให้สามารถทำงานร่วมกันได้ วิทยากรจึงขออีกครั้งให้ท่านผู้บริหารทุกคนยิ้มเป็น ยิ้มได้ และจริงใจกับรอยยิ้ม

การชี้นิ้ว

วิทยากรแนะนำว่าผู้บริหารไม่ควรชี้นิ้วกับสิ่งใด การผายมือแบบให้เห็นทั้งฝามือดูดีกับผู้บริหารมากกว่า การชี้นิ้วสั่งไม่ว่ากรณีใด ๆ ในอีกการอบรมหนึ่ง ผมได้ฟังวิทยากรอีกท่านยกตัวอย่างบารัค โอบามา ที่เวลาชี้จะใช้การกำมือ แล้วใช้นิ้วโป้งชี้แทนด้วยซ้ำ

สรุปง่าย ๆ ว่าผู้บริหารควรเลิกชี้นิ้วสั่งงานนั่นเอง

การไหว้

การไหว้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ที่แม้จะมีชาติอื่นที่มีการไหว้เหมือนกัน แต่หากทำได้ถูกต้องเหมาะสม คนไทยไหว้สวยกว่าชาติอื่น วิทยากรกล่าวว่าการไหว้นั้นทำมือเหมือนเป็นดอกบัว ซึ่งเท่ากับมามอบดอกไม้ (ดอกบัว) แก่กันเมื่อไหว้ซึ่งกันและกัน

แม้ในเวทีระดับโลก วิทยากรก็เสนอให้เราไหว้ได้ เช่นเมื่อขึ้นเวทีสำคัญ ๆ ก็ไหว้ท่านผู้ฟัง แล้วท่านอาจเล่าว่าสิ่งที่ท่านทำคือการไหว้ ซึ่งเป็นการทักทายของคนไทย รวมถึงการขอบคุณของคนไทย ก็ได้เป็นต้น เมื่อต้องพบปะชาวต่างชาติ ท่านสามารถใช้การไหว้ทักทายแขกของท่านได้ก่อนถึงระยะที่จะต้องโค้งต้อนรับกัน หรือจับมือต้อนรับกัน อย่าลืมว่าควรสบตากับผู้ที่เราไหว้ให้ชัดเจนว่าเรากำลังสือสารกับเขาอยู่ด้วยการไหว้

ระดับของการไหว้และรับไหว้ ในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เราไหว้คนระดับอาวุโสเดียวกันหรือสูงกว่าได้ (การไหว้คนอาวุโสน้อยกว่าก่อนดูไม่ถูกกาละเทศะนัก) การประนมมือและก้มหน้าลงให้ปลายนิ้วชี้สัมผัสคาง เป็นการไหว้บุคคลที่อยู่ในระดับอาวุโสเดียวกัน หรือใช้ในการรับไหว้กัน หากก้มหน้าลงให้ปลายจมูกสัมผัสกับปลายนิ้ว จะเป็นการไหว้ผู้มีระดับอาวุโสสูงกว่า หากเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ คงจะทราบว่าอีกระดับหนึ่งของการไหว้คือการก้มให้ปลายนิ้วสัมผัสกับหน้าผาก ซึ่งเป็นการไหว้พระนั่นเอง

ข้อไม่ควรทำในการไหว้คือการยกมือขึ้นมาสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของหน้าที่กล่าวมา โดยไม่ก้มหน้าไปเพื่อสัมผัสปลายนิ้วชีี้ ของมือที่ประนมอยู่ ซึ่งมือไม่ควรขยับจากอกมากนัก การยกมือขึ้นแทนการก้มหน้าจะดูไม่สุภาพและเคารพกัน นอกจากนี้ระหว่างก้มหน้าไหว้กันก็ไม่ค้องมองตากันตลอด ซึ่งก็จะดูไม่ดี ดูไม่สุภาพ อาจจะเหมาะกับการไหว้เพื่อขอชีวิตกับโจรมากกว่าจะทำความเคารพกัน

หากการรับไหว้แบบเต็มรูปแบบเป็นไปไม่ได้ เช่นมือหนึ่งไม่ว่าง ท่านสามารถยกมื่อขึ้นรับทราบการไหว้ของผู้ที่มาไหว้ท่านได้ ท่านอาจรับไหว้เต็มรูปแบบได้ โดยวางมือจากสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ และไม่ได้ทิ้งระยะเวลาที่นานเกินไปหลังจากมีผู้ไหว้ท่าน หากมือไม่ว่างเลย การพยักหน้ารับไหว้และพูดอะไรบ้างก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือทำเป็นไม่สนใจ

บางครั้งชาวต่างชาติอาจมีทำเนียมแตะแก้มกัน ก็ไม่ควรทำท่ารังเกียจ ให้ตามน้ำไปตามความเหมาะสม

การจับมือ

ทำเนียมของชาวต่างชาติโดยทั่วไปมักทักทายกันด้วยการจับมือ ใครจะเป็นฝ่ายยกมือขึ้นเพื่อขอจับมือก่อน เป็นเรื่องความเหมาะสม การให้เกียรติกัน สำหรับผู้บริหารไทย อาจต้อนรับชาวต่างชาติด้วยการไหว้ก่อน แล้วค่อยจับมือก็ได้

ในกรณีที่ท่านผู้บริหารเป็นฝ่ายยกมือขึ้นทีหลัง ให้วาดมือจากด้านล่าง โดยผายมือเข้าหาผู้ที่เราจะจับมือด้วย แล้วจับมือกันด้วยความแน่นปานกลาง สั่นมือกันปานกลาง

ชาวต่างชาติที่ต้องการสื่อให้เห็นความนอบน้อมอาจเอาอีกมือหนึ่งขึ้นมาจับมือที่กำลังจับกันอยู่ ซึ่งเราควรทำเช่นเดียวกัน และสั่นมือกันตามสมควร ระหว่างจับมือควรมีการพูดทักทายกันเช่นถามว่าสบายดี หรือแนะนำตัวกัน พอเป็นพิธีได้ แต่ไม่ควรจับมือกันเงียบ ๆ จะดูเหมือนถูกบังคับให้จับมือกันมากกว่าที่จะมีสัมพันธ์อันดีต่อกัน

การเชื้อเชิญ ที่เจ้าบ้านมักจะขอให้แขกเดินไปทางใดทางหนึ่ง สามารถทำได้โดยการผายและวาดมือไปทางที่ต้องการ พร้อมพูดเชื้อเชิญ เช่นบอกว่าห้องประชุมที่ต้องไปอยู่ทางนู้นทางนี้เป็นต้น หรืออาจเพิ่มการแนะนำทางไปห้องน้ำหากเห็นท่าทางของแขกเหนื่อย ๆ หรือเดินทางบนรถมานานและอาจต้องการเข้าห้องน้ำ

นามบัตร

ผู้บริหารมักต้องให้หรือรับนามบัตรซึ่งกันและกัน การมีกระเป๋านามบัตร หรือกล่องนามบัตร เป็นสิ่งที่วิทยากรแนะนำ นามบัตรในกระเป๋ามักแบ่งออกเป็นฝั่งที่มีนามบัตรของตัวท่านเอง และฝั่งที่เป็นนามบัตรที่ท่านได้รับมาก ทั้งนี้มักจะซ้อนนามบัตรจากที่ได้รับมาก่อนหลังอย่างเป็นระบบ จะทำให้ท่านทราบได้ว่าท่านได้ติดต่อกับเจ้าของนามบัตรนั้น ๆ เป็นลำดับอย่างไร และช่วยให้ท่านจำเจ้าของนามบัตรนั้น ๆ ได้ดีขึ้น

วิทยากรจาการบรรยายหนึ่งทำให้ผมทราบว่าการยื่นนามบัตรควรยื่นด้วยสองมือ การยื่นนามบัตรให้คนอื่นด้วยมือเดียวใช้กับคนระดับอาวุโสเดียวกันได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับการมอบนามบัตรให้ผู้ใหญ่กว่า

ในการรับนามบัตร ควรนำนามบัตรที่ได้มาดูก่อน วิทยากรแนะนำว่าควรอ่านนามบัตร เช่นชื่อ ชื่อที่ทำงาน หรือตำแหน่ง และพูดถึงสิ่งเหล่านั้นในทางที่ดี แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เรามีต่อเจ้าของนามบัตรนั้น ๆ ไม่ควรเอานามบัตรที่ได้มาพับเล่นระหว่างสนทนา หากจะเก็บ ควรเก็บใส่ซองนามบัตร หรือกระเป๋าเสื้อ ไม่ควรเก็บนามบัตรที่ได้มาในกระเป๋ากางเกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ให้นามบัตรยังคงเห็นพฤติกรรมของเราต่อนามบัตรของเขา

หากต้องนั่งสนทนากับเจ้าของนามบัตรหลายคน หลาย ๆ ใบพร้อมกัน วิทยากรแนะนำว่าควรวางนามบัตรเรียงกันอย่างเป็นระบบ เช่นวิทยากรจะวางนามบัตรเรียงกันแนวดิ่งอยู่ด้านซ้าย ใบแรกเป็นของคนที่นั่งตรงข้ามเราซ้ายสุด ระหว่างสนทนา แนะนำให้เราหันกลับไปมองนามบัตรและเรียกชื่อคู่สนทนาให้ถูกต้องตามข้อมูลในนามบัตรที่ให้มาด้วย

วิทยากรกล่าวว่าหากเป็นการต่อรองทางธุรกิจ พฤติกรรมเช่นนี้จะช่วยให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงความเอาใจใส่ และไม่ควรเอาเปรียบกันขึ้นมา จะช่วยให้การเจรจาต่อรองเป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ ในประเด็นของการต่อรอง คณบดีของผม แสดงความรู้สึกเสียดายที่ EDP รุ่นนี้ไม่มีวิทยากรอย่างคุณโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มาเป็นวิทยากรให้ในเรื่องการเจรจาต่อรอง ซึ่งคณบดีที่ผ่านการอบรม EDP รุ่นที่ 14 เชื่อว่ามีประโยชน์มากสำหรับผู้บริหาร

ภายในยอดเยี่ยม

วิทยากรแนะนำว่าโอกาสในการแสดงมารยาทและบุคลิกภาพที่ดีที่สำคัญคือ “ทุกโอกาส” ความคิดและความเคยชินสะท้อนการกระทำ การกระทำบ่อยๆ เป็นนิสัย นิสัยกลายเป็นบุคลิกภาพ บุคลิกภาพคือตัวชี้โชคชะตาของคน ในสายตาชาวต่างชาติ ผู้บริหาร หรือคนไทย มีลักษณะการแสดงออกที่เห็นได้ชัดว่าเป็นคนไทย และมีหลายลักษณะเป็นที่ไม่พึงประสงค์ในสายตาชาวโลก (หรือแม้กระทั่งคนไทยด้วยกัน ซึ่งเราต้องช่วยกันปรับ เพื่อยกระดับผู้บริหารไทย)

คุณธรรม 5 และจริยธรรม 7 เป็นสัจธรรมที่เมื่อปฏิบัติแล้วจะส่งผลให้ผู้นั้นเจริญ (ที่มา ชมรมเผยแผ่คุณธรรม) นักบริหารควรทำงานและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม โดยคุณธรรม หมายถึง ธรรมที่เกี่ยวกับการประพฤติตนให้ดีต่อผู้อื่น ด้วยความจริงใจและด้วยจิตใจที่ดีงาม ประกอบด้วย การมีเมตตากรุณา การมีความกตัญญูกตเวที การมีความซื่อสัตย์สุจริต การมีสัจจะ และการมีความยุติธรรม ส่วนจริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เกี่ยวกับการประพฤติตนให้ดีต่อผู้อื่นและต่อตนเอง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้จนกระทั่งมีความเจริญ ประกอบด้วย ความตั้งใจที่ดี ความไม่ประมาท การมีมารยาท การประหยัด ความสามัคคีปรองดอง ความสมถะสันโดษ และการวางเฉย

วิทยากรแนะนำเรื่องมารยาทในที่ประชุมไว้ 13 ข้อ เช่นเรื่องความตรงต่อเวลา มารยาทในการฟัง และเสนอแนะ การรักษาความลับ เป็นต้น พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้บริหารในสังคมในโอกาสต่าง ๆ เช่นการได้รับเชิญไปกล่าวในงานแต่งงาน การพูดมอบหมายงาน สอนงาน หรือตำหนิผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น

Q&A

วิทยากรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมถามคำถามหลายข้อระหว่างการอบรม

  • จะทำอย่างไรหากเชิญน้อง/ผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วไม่นั่ง วิทยากรบอกว่าในประเทศไทย ผู้ใต้บังคับบัญชาคิดว่าการยืนคุยเหมาะสมกับว่านั่งคุยกับผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือตำแหน่งต่างกันมาก ท่านผู้บริหารอาจเลือกที่จะยืนคุย โดยบอกว่าถ้าไม่นั่ง ท่านก็ไม่นั่งเหมือนกัน (โดยส่วนตัวผมคิดว่า ผู้บริหารนั่งก็ได้เพราะถือว่าเชิญให้นั่งแล้ว ไม่ยอมนั่งเอง….) บางท่านอาจมองว่าการยืนคุยในขณะที่ผู้ใหญ่นั่ง ก็ไม่เหมาะสม ก็คงจะยอมนั่งเองในที่สุด
  • ผู้ใต้บังคับบัญชาขอกลับบ้านก่อน ผู้บริหารควรทำอย่างไร (เช่นจริง ๆ แล้วไม่อยากให้กลับ) วิทยากรแนะนำว่าให้อวยพรให้กลับบ้านโดยสวัสดิภาพเสริมให้ด้วยเลย เพราะขอกลับก่อนคงมีความจำเป็น หากผู้บริหารมีพฤติกรรมไม่ดีต่อผู้กลับบ้านเร็ว ในอนาคตผู้น้อยก็กลับก่อนอยู่ดี และอาจไม่แวะมาบอกด้วยซ้ำ
  • หากทะเลาะกับลูกน้อง หัวหน้าควรทำอย่างไร วิทยากรแนะนำว่า หัวหน้าควรเป็นฝ่ายไปเคลียร์ก่อน ว่าเข้าใจและไม่ติดใจ (แต่เรื่องการทำถูกผิด เป็นคนละเรื่องกันกับการไปเคลียร์ทางอารมย์)
  • หัวหน้าที่ไม่สื่อสาร จะเป็นอย่างไร วิทยากรตอบว่าหัวหน้า หรือผู้บริหารที่ไม่ค่อยสื่อสาร มักไม่ประสบความสำเร็จ
  • อะไรคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ วิทยากรกล่าวว่าการที่ผู้บริหารมืออาชีพสามารถทำสิ่งที่ไม่อยากทำจนคนอื่นเห็นเหมือนกับว่าเราชอบทำสิ่งนั้น
  • ผู้บริหารควรเห็นผู้น้อยเป็นอย่างไร วิทยากรกล่าวว่า ผู้บริหารควรเห็นลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นสินทรัพย์ของตนหรือองค์การ ควรให้คุณค่า มุ่งพัฒนาให้ดี เพื่อให้ผลการดำเนินงานดียิ่งขึ้น (สอดคล้องกับ EdPEx หมวด 5)

ปิดท้าย

เป็นหัวหน้า คุณไม่ใช่หาง เพราะคุณเป็นหัว และคุณก็ไม่ได้อยู่หลัง เพราะชื่อคุณย่อมอยู่หน้า ก็คือหัวหน้า เมื่อหัวหน้าขยับ ความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมไปทิศทางใด ย่อมจะกระทบกระเทือนถึงหาง และกองทัพด่านหลัง แน่นอน เพราะฉะนั้น เป็นหัวหน้าทั้งที อย่ามัวแต่หรี่ตา หันหน้าไปหลัง หันหัวไปทางหางบ้าง เพื่อดูว่า สิ่งที่เป็นอยู่นั้น อะไรคือสาเหตุ

(เพื่อการอบรม “ผู้นำ นำอย่างไรให้ยั่งยืน” และ “บริการอย่างไรให้ได้ใจลูกค้า” โครงการพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมทั่วประเทศ ประจำปี 2551-2553 สำนักพัฒนาบริการการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย เนตรา เทวบัญชาชัย ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมศาลายาพาวิลเลียน อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล Email: natetra.dhe@mahidol.ac.th หรือ natetrat@gmail.com)

…หากมีคนถามว่าที่ท่านผู้บริหารทำอยู่เป็นการเสแสร้งหรือไม่ วิทยากรให้ทำท่า “backhand” แล้วพูดว่า “มันเลยจุดนั้นไปแล้ว”

นอกจากนี้ยังมีการชมสื่อวีดิทัศน์ วาทะ..ปัญญา จากขงเบ้ง และผู้บริหารที่พูดภาษาญี่ปุ่นอย่างดุเดือน จนฟันปลอมหลุด แต่ก็ยิ้มสู้และเรียกเสียงหัวเราะ

ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น